...

Technical Analysis และ Fundamental Analysis ต่างกันไหม

Table of Contents

Technical Analysis และ Fundamental Analysis ต่างกันไหม

Technical Analysis และ Fundamental Analysis ต่างกันไหม คำถามนี้มักจะมีคนนำถกเถียงกันเสมอ เมื่อพูดถึงการเทรดในตลาดการเงิน เพราะการลงทุนนั้น มีวิธีการสองอย่างหลักๆในการนำมาประกอบการตัดสินใจนั่นคือ: 1. การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) และ 2.การวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) แม้ว่าทั้งสองวิธีการนี้จะสามารถใช้วิเคราะห์ได้กับสินทรัพย์แทบจะทุกประเภทบนโลก ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ค่าเงิน สินค้าโภคภัณฑ์ หรือแม้แต่กระทั้ง Cryptocurrency ทั้งสองวิธีนั้นแตกต่างกันอย่างมากทั้งในแนวทางปฏิบัติและประเภทของข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจซื้อขาย 

Fundamental Analysis: การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน

ในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของแต่ละสินทรัพย์ ก็จะใช้ชุดข้อมูลที่แตกต่างกันไป เช่น ในการวิเคราะห์ค่าเงิน นักลงทุนก็จะใช้ปัจจัยอย่างเช่น เศรษฐกิจโดยรวม นโยบายการเงินและการคลัง เป็นต้น ส่วนการประเมินหลักทรัพย์ (หุ้น) ก็จะเน้นไปที่การตรวจสอบข้อมูลทางการเงินและเศรษฐกิจของบริษัท เช่น วิเคราะห์ Business Model ของบริษัทและโอกาสที่จะเติบโต รายงานรายได้ งบดุล และแนวโน้มอุตสาหกรรมของบริษัทนั้น เป้าหมายของการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานคือประเมินมูลค่าที่แท้จริง หรือ Intrinsic Value ว่ามีมูลค่าต่ำหรือสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งหรือค่าเฉลี่ยของตลาด ซึ่งข้อมูลนี้จะช่วยในให้นักลงทุนสามารถตัดสินใจที่จะซื้อ หรือ ขายสินทรัพย์นั้นๆได้ นักลงทุนที่ใช้การวิเคราะห์แบบ Fundamental Analysis มักจะถูกเรียกย่อๆว่า VI (วีไอ) ที่ย่อมาจากคำว่า Value Investor

ตัวอย่างชุดข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์หุ้น

  • วิเคราะห์บริษัท (Company Analysis)
    • วิเคราะห์เชิงคุณภาพ: Qualitative Analysis
      • Business Model/Business Plan
      • SWOT
      • ทีมผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่
    • วิเคราะห์เชิงปริมาณ: Quantitative Analysis
      • งบกำไรขาดทุน
      • งบดุล
  • วิเคราะห์อุตสาหกรรม (Industry Analysis) 
  • วิเคราะห์อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมนั้นว่ายังน่าลงทุนหรือไม่
  • วิเคราะห์เศรษฐกิจ (Economic Analysis)
    • วิเคราะห์เศรษฐกิจจากมุมกว้าง ทั้งในแง่การลงทุนจากต่างชาติหรือแม้แต่อัตราการเติบโตของ GDP

ซึ่งเทคนิคในการวิเคราะห์หุ้นนั้นก็สามารถเลือกว่าจะใช้แบบ Top Down หรือ Bottom Up ก็ได้ดังภาพด้านล่าง

Fundamental Analysis คือ การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน

ตัวอย่างชุดข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ราคาน้ำมัน

  • อุปสงค์-อุปทาน หรือ Demand-Supply
    • ยกตัวอย่างเช่น การเติบโตของอุตสาหกรรมรถ EV อาจทำให้ความต้องการของน้ำมันลดลงในอนาคต
  • การเมือง
    • ยกตัวอย่าง สงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นต้น
  • การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายของรัฐบาล
  • อารมณ์ตลาด (Market Sentiment)
    • ข่าวใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อความกลัวและโลภของนักลงทุน

Technical Analysis: การวิเคราะห์ทางเทคนิค

การวิเคราะห์ทางเทคนิคเป็นวิธีการประเมินหลักทรัพย์ที่อาศัยกราฟราคาและการวิเคราะห์ทางสถิติของข้อมูลตลาด เช่น ราคา และ ปริมาณ เพื่อระบุรูปแบบและแนวโน้มของราคาที่จะเกิดขึ้น เป้าหมายของการวิเคราะห์ทางเทคนิคคือการระบุโอกาสในการซื้อขายตามแนวโน้มของตลาด เช่น ระดับแนวรับและแนวต้าน แนว Fibonacci หรือ รูปแบบ Price Pattern เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น นักวิเคราะห์ทางเทคนิคอาจดูกราฟราคาหุ้นเพื่อระบุแนวรับและแนวต้านที่สำคัญ ระดับเหล่านี้คือจุดที่ราคาหุ้นวิ่งอยู่ในกรอบซ้ำๆ ซึ่งบ่งชี้ถึงโอกาสในการซื้อหรือขาย เช่น จากรูปด้านล่าง จะเป็นการวิเคราะห์ทางเทคนิคแบบใช้เส้นแนวรับแนวต้าน จะเห็นได้ว่า ราคาได้มีการวิ่งขึ้นมาอยู่ในกรอบ แบบ Sideway Up และบ่อยครั้งที่ราคาวิ่งขึ้นไปชนกรอบแนวต้านที่วงกลมสีแดง ราคาก็มักจะ Rebound ลงมา เป็นแบบนี้อยู่บ่อยครั้งจนเบรกกรอบลงมาเป็นขาลง แล้วก็ลงแบบวิ่งในกรอบแบบ Sideway Down ดังนั้นเทรดเดอร์จึงสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาช่วยประกอบการตัดสินใจในการหาจุดเข้าจุดออกได้

Technical Analysis แนวรับ แนวต้าน
Technical – Support – Resistance

อีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคคือการตัดกันของเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ Momentum ที่ได้รับความนิยม ตัวบ่งชี้นี้จะคำนวณราคาเฉลี่ยของหุ้นในช่วงเวลาหนึ่งและเปรียบเทียบกับราคาเฉลี่ยอื่นในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เมื่อราคาเฉลี่ยในระยะสั้นข้ามเหนือราคาเฉลี่ยระยะยาว นั่นหมายสัญญาณของโอกาสในการเข้าซื้อหรือเปิด ​Position Buy/Long นั่นเอง 

ยกตัวอย่างเช่นกราฟด้านล่าง จะใช้เส้น Moving Average 2 เส้นคือ เส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน (สีน้ำเงิน) และ 100 วัน (สีขาว) โดย จะเห็นได้ว่า เมื่อเส้นค่าเฉลี่ยสีน้ำเงินตัดลงในจุดที่วงกลมสีแดง ราคา Crude Oil ก็ได้ปรับตัวลงเป็นขาลง และเมื่อเส้นน้ำเงินตัดขึ้นอีกครั้งในจุดที่วงกลมสีฟ้า ราคาน้ำมันก็กลับตัวเป็นขาขึ้น

Technical Analysis เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่

เครื่องมือทาง Technical ทั้ง 4 ชนิด

1) Trend Indicator

Trend Indicator คือเครื่องมือที่จะช่วยในการตัดสินใจสำหรับสาย Trend Follow โดย Indicator ยอดฮิตในหมวดนี้คือ

  1. Moving Average
  2. Ichimoku Clouds
  3. ADX
  4. MACD

2) Oscillator Indicator

Oscillator Indicator คือเครื่องมือที่วัด Momentum เพื่อบอกทิศทางตลาดแบบ Leading ซึ่งแปลตรงตัวว่า นำทางตลาดนั่นเอง เครื่องมือประเภทนี้สามารถบอกถึงการแนวโน้มที่น่าจะเป็นไปได้ Indicator ในหมวดนี้คือ

  1. MACD
  2. RSI
  3. Stochastic

3) Volatility Indicator 

Volatility Indicator จะวัดว่าการแกว่งขึ้นและลงของราคาจากค่า mean ว่ามีขนาดใหญ่แค่ไหน เช่น

  1. ATR (Average True Range)
  2. Bollinger Bands

4) Support-Resistance

การเทรดโดยใช้เส้น แนวรับแนวต้าน หรือ Support Resistance

เปรียบเทียบ Technical Analysis และ Fundamental Analysis ต่างกันไหม

แม้ว่าทั้งการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและทางเทคนิคมีเป้าหมายเพื่อระบุโอกาสในการซื้อขายเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันอย่างมากในแนวทางและประเภทของข้อมูลที่ใช้ การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานอาศัยข้อมูลทางเศรษฐกิจและการเงิน ในขณะที่การวิเคราะห์ทางเทคนิคอาศัยข้อมูลตลาด เช่น ราคาและปริมาณ มาดูกันทีละตัวดังนี้

วิธีการ (Approach)

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจ การเงิน และปัจจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อมูลค่าของสินทรัพย์อ้างอิง เช่น อัตราดอกเบี้ย รายได้ของบริษัท และแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรม ในขณะที่การวิเคราะห์ทางเทคนิคเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์กราฟราคาและการใช้ตัวบ่งชี้ทางเทคนิคเพื่อระบุรูปแบบและแนวโน้มในการเข้าซื้อและขาย

แหล่งข้อมูล (Data Source)

การวิเคราะห์พื้นฐานอาศัยรายงานของบริษัท ข้อมูลเศรษฐกิจ ข่าวประชาสัมพันธ์ และรายงานอุตสาหกรรม แต่การวิเคราะห์ทางเทคนิคอาศัยข้อมูลราคาและปริมาณจากกราฟและแพลตฟอร์มการซื้อขาย

ระยะเวลา (Timeframe/Time Horizon)

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานมักจะมุ่งเน้นไปที่แนวโน้มระยะยาวและปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของสินทรัพย์ซึ่งอาจกินเวลาถึงหลักปีหรือมากกว่านั้น ในขณะที่การวิเคราะห์ทางเทคนิคนั้น สามารถนำมาใช้ได้ทั้งการซื้อขายระยะสั้นมากๆอย่างเช่น 1 นาที ไปจนถึงยาวๆหลักหลายเดือนก็มีเนื่องจากเน้นที่การเคลื่อนไหวของราคาและรูปแบบในตลาด Full-Time Trader ที่เน้นทำกำไรรายวันส่วนใหญ่จะใช้ Technical ในการหาจุดเข้าและออก

บริหารความเสี่ยง (Risk Management)

ในการจัดการความเสี่ยงจากการลงทุนโดยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานนั้น จะไม่ได้ดูราคาเป็นหลัก แต่เป็นปัจจัยทางพื้นฐานล้วนๆ เช่น พื้นฐานของธุรกิจเปลี่ยน กำไรไม่มาตามคาดหมาย หรือมีการเปลี่ยนผู้บริหาร เป็นต้น เมื่อสิ่งที่วิเคราะห์ไม่เป็นไปตามคาด นักลงทุนสาย VI ก็จะถอยออกมา หรือ Cut Loss นั่นเอง ในขณะที่หากใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค ก็จะสามารถ Technical Indicator ที่ตัวเองถนัด เช่น Cut Loss เมื่อหลุด Low ก่อนหน้า หรือ Cut Loss หากหลุดกรอบสะสม หรือ Cut Loss เมื่อ EMA ตัดลง เป็นต้น 

สรุป

ดังนั้นเรียกได้ว่า เข้าแบบไหน ก็ต้องออกแบบนั้นถึงจะสมเหตุสมผลที่สุด เนื่องจาก Technical Analysis และ Fundamental Analysis ต่างกัน มากทั้งเชิงหลักการและวิธีในการซื้อขาย ดังนั้นถ้าจะต้องตัดสินว่าแบบไหนดีกว่ากัน คงจะไม่มี เพราะแต่ละคนก็มีจริตในการลงทุนไม่เหมือนกัน คล้ายๆกับการเปรียบเทียบต้มกับผัด คงบอกไม่ได้ว่าสิ่งไหนอร่อยกว่า แล้วแต่ว่าใครชอบแบบไหน ดังนั้นเมื่อเราเข้าใจในตัวเราอย่างถ่องแท้แล้วว่าจะไปในทางไหนด้วยวิธีใด ก็จะทำให้เราสามารถ Focus ได้ถูกจุด คอยลับมีดให้คมและคอยพัฒนาท่าไม้ตายของเราให้ชำนาญเพื่อความสำเร็จในการลงทุนระยะยาว

Bruce Lee – ผมไม่กลัวคนที่ฝึกเป็น 10,000 ท่า แต่ผมกลัวคนที่ฝึกเตะท่าเดียวเป็น 10,000 ครั้ง

Seraphinite AcceleratorOptimized by Seraphinite Accelerator
Turns on site high speed to be attractive for people and search engines.