...

สรุป วิกฤต Subprime หรือ Hamburger Crisis ปี 2008

Table of Contents

Hamburger Crisis

วิกฤต Subprime หรือ Hamburger Crisis ที่ถูกเรียกกันในชื่อ วิกฤตสินเชื่อ คือ วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่สะเทือนโลกที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2008 แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะเข้าสู่ช่วงดอกเบี้ยขาลงตั้งแต่ปี 1982 เหตุการณ์ ​Dotcom Bubble ที่ตลาด crash ในช่วงต้นปี 2000 ประกอบกับเหตุการณ์ 911 ที่เกิดขึ้นตามมาในปี 2001 ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐบอบช้ำมาก เพื่อเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ Fed จึงทำการลดดอกเบี้ยลงในอัตราที่ต่ำมากเข้าไปอีก เมื่อดอกเบี้ยลด ธนาคารก็ปล่อยกู้ได้มากขึ้น และคนก็หันมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้นตามลำดับ 

ในช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤต Subprime เมื่อคนกู้เงินได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ คนก็แห่กันไปกู้ซื้อบ้าน ซื้อไว้เป็นที่อยู่อาศัยก็ดี หรือซื้อไว้ปล่อยเช่าหรือเก็งกำไรไว้ขายก็ดี ทีนี้ปัญหาที่ตามมาคือ ธนาคารเอง ก็อยากที่จะปล่อยกู้ จึงปล่อยกู้ให้แม้แต่กระทั้งกลุ่มที่เครดิตไม่ดี (กลุ่ม Subprime) เรียกว่าใครๆก็กู้ได้ บางคนกู้ซื้อบ้านที 4-5 หลัง คือกู้ไว้ก่อน แต่จะจ่ายไหวไหม​…..ไม่รู้ ตัวผู้กู้เองก็ต้องรีบกู้มาก่อน เพราะดอกเบี้ยต่ำ คิดว่าถ้าขายบ้านยังไงก็ได้กำไร ตัวธนาคารเองก็มองตรงกัน คือ ยังไงราคาอสังหาฯ

ก็มีแต่ขึ้น ถ้ากลุ่ม Subprime จ่ายไม่ไหวก็ยึดมาแล้วเอาไปขายต่อ นอกจากนี้ธนาคารก็ยังเอาบ้านที่ถูกวางเป็นหลักประกันของลูกค้ากลุ่มนี้มามัดรวมเป็นหลักทรัพย์แล้วออกเป็นหุ้นกู้ที่มีอสังหาฯรองรับ (MBS: Mortgage-Backed-Securities) ไปขายให้แก่นักลงทุนต่ออีกทอดเพื่อที่ธนาคารจะเอาเงินนั้นมาปล่อยกู้ต่อนั่นเอง

วิกฤต Subprime

ตลาดพังได้อย่างไร

ในช่วงก่อนที่ฟองสบู่จะแตกนั้น อสังหาฯราคาพุ่งขึ้นเรื่อยๆ การก่อสร้างก็เร่งกู้เงินไปสร้างเพราะ Demand อสังหาฯสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยมี Demand ที่พีคมากๆในช่วงเดือนมีนาคมปี 2005  เมื่อธนาคารปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ที่ไม่ได้เช็คเครดิตเลย จึงเกิดการเบี้ยวหนี้เยอะมาก ผู้คนเริ่มทิ้งบ้าน ในฝั่งของหุ้นกู้ MBS ที่ปล่อยกู้ไปนั้น ธนาคารก็เริ่มเบี้ยวหนี้ เมื่อเกิดข่าวลือว่าธนาคารจะล้ม คนก็ไปแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร เป็นการซ้ำเคราะห์ให้ธนาคารไม่มีเงินหมุนเข้าไปอีก ทีนี้จึงล้มเป็นกันเป็นทอดๆแบบ Domino ทั้งเศรษฐกิจนั่นเอง

เราสามารถสรุปสาเหตุที่ตลาดพังกันเป็นข้อๆได้ดังนี้ 

ไม่มีมาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อ

ธนาคารหละหลวมในเรื่องของ Standard ที่ปล่อยกู้ให้ผู้กู้ แม้รู้ทั้งรู้ว่าผู้กู้เครดิตไม่ดี มีโอกาสที่จะโดนเบี้ยวหนี้ ก็ยังปล่อยให้กู้ เพราะมองแต่ในส่วนที่ว่าคิดว่าอสังหาฯความเสี่ยงน้อย และลูกหนี้กลุ่ม Subprime (กลุ่มที่เครดิตไม่ดี)จะจ่ายดอกเบี้ยแพงกว่ากลุ่มที่มีเครดิตดี (Prime)

เกิดฟองสบู่

ราคาและหุ้นอสังหาฯปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่าราคาจริง (Intrinsic Value) เพราะว่ามี Demand อสังหาฯเยอะเนื่องจากธนาคารปล่อยกู้ง่าย ดังนั้นการจึงไปสร้างภาวะฟองสบู่ในตลาด

ใช้เครื่องมือการเงินที่ซับซ้อนหลายต่อทำให้ยากต่อการประเมินความเสี่ยง

 ธนาคารนำบ้านที่ถูกวางเป็นหลักประกันมา “มัดรวม” เป็นสินทรัพย์แล้วก็ปล่อยหุ้นกู้ Mortgage-Backed-Securities (MBS) ให้กับนักลงทุน นอกจากนี้นักการเงิน Wall Street ยังมีการนำเครื่องมีการเงินอีกแบบมาใช้เพื่อรับประกันความเสี่ยงจาก ​MBS นั่นคือ Colateralized Debt Obligations (CDOs) อธิบายง่ายๆคือมีผู้เล่นธนาคารอื่นมาช่วยรองรับว่า ถ้าธนาคารนั้นจ่ายดอกคุณไม่ไหว เราจะจ่ายให้คุณเอง ซึ่งความซับซ้อนของเครื่องมือการเงินเหล่านี้ทำให้ยากต่อการประเมินความเสี่ยงในพื้นฐานที่เกี่ยวข้องจริงๆ

บริษัทจัด Rating ไม่ให้ Rate ของ MBS ตามจริง

บริษัทที่จัดเครดิตเรตของหุ้นกู้ ไม่ได้ทำการตรวจสอบให้ถ่องแท้ว่า หุ้นกู้ MBS ที่จะปล่อยให้นักลงทุนนั้นถูกวางด้วยหลักทรัพย์ของลูกค้ากลุ่ม Subprime ที่มีสิทธิ์เบี้ยวหนี้สูงมาก บางบริษัทก็ตรวจสอบแต่มองเห็นความโลภมากกว่า เพราะถ้าไม่ออกเรทดีๆให้ ธนาคารก็จะไปให้เจ้าอื่นออกอยู่ดี

เศรษฐกิจโลกเชื่อมต่อกัน

เนื่องจากอเมริกาเป็นศูนย์กลางตลาดการเงินของโลก ดังนั้นผลกระทบจากวิกฤตซับไพรม์จึงเขย่าทั้งโลกอย่างรวดเร็ว เพราะสถาบันการเงินต่างๆทั่วโลกถือการลงทุนใน MBS และหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อกลุ่ม Subprime ซึ่งส่งผลกระทบกันเป็นทอดๆ

ผลกระทบจากวิกฤตนี้

ผลกระทบจาก Subprime นั้นเรียกว่าทำเศรษฐกิจซบเซาไปหลายปี โดยมีเหตุการณ์ใหญ่ๆในประวัติศาสตร์ดังนี้

1. ในปี 2008 – 2015 ธนาคารกว่า 500 แห่งล้มละลาย แม้แต่ธนาคารดังๆอย่างเช่น Lehman Brothers, Bear Stearns และ Washington Mutual เป็นต้น ในขณะที่ธนาคารอื่นที่ไม่ล้มละลายก็โดนผลกระทบหนักมาก เรียกว่ายังไม่ตายแต่สาหัส

2. เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมา (The Great Recession) ส่งผลให้

– GDP สหรัฐติดลบ 4.7% ในช่วง 2007 – 2009

– อัตราคนว่างงานพุ่งสูงขึ้นเกือบ 10% ในปี 2010 มีการ Layoff พนักงานกว่า 300,000 คน

Unemployment Rate Subprime

– ในช่วงต้นปี 2009 S&P500 ปรับตัวลงกว่า 57.7% เมื่อเทียบกับก่อนที่ฟองสบู่จะแตก โดยกว่าที่ตลาด Recover กลับมาในจุดก่อนที่จะเกิดวิกฤตและสามารถ Break High ขึ้นไปได้คือช่วงเดือนเมษายน 2013 หรือราวๆ 5 ปีให้หลัง

S&P 500 during Hamburger Crisis

3. เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ราคาบ้านปรับตัวลง ซึ่งปรับตัวลงหนักกว่า 31.8% หลังจากที่ฟองสบู่แตก แล้วอัตราการซื้อบ้านใหม่ในอเมริกาก็ปรับตัวเกือบ 80% จากก่อนเกิดวิกฤตในปี 2006 ลงมาจุดต่ำสุดในช่วงปี 2011

ยอดขายบ้าน Hamburger Crisis

ตลาดฟื้นตัวจาก วิกฤต Subprime หรือ Hamburger Crisis ได้อย่างไร

Government Bailouts หรือ การที่รัฐช่วยอุ้ม

รัฐบาลสหรัฐได้เข้าไปช่วยอุ้มธนาคารและบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้ด้วยโปรแกรมช่วยเหลือที่ชื่อว่า Troubled Asset Relief Program หรือ ทาร์ป (TARP) ซึ่งเงินที่ถูกช่วยเหลือผ่านโปรแกรมทาร์ปนี้อยู่ที่ประมาณกว่า 4.4 แสนล้านดอลลาร์

ปล่อยกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่สถาบันการเงิน

Federal Reserve หรือ FED ได้ปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินต่างๆเป็นมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์

พิมพ์เงินอัดเข้าสู่เศรษฐกิจหรือ QE หลัง Subprime

สหรัฐพิมพ์เงินแล้วอัดเข้าสู่เศรษฐกิจ ทั้งหมด 3 รอบ รวมทั้งหมด 3 รอบกว่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์โดยทั่วโลกก็ได้รู้จักการพิมพ์เงินเข้าเศรษฐกิจครั้งแรกก็ตอนนี้แหละ โดยการ QE ก็ช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้ได้บ้างและตลาดหุ้นก็กลับมาฟื้นตัวได้โดยใช้เวลาเกือบ 3 ปี

Fiscal Stimulus หรือ นโยบายการคลังแบบกระตุ้นฟื้นฟู

รัฐได้ออกกฎคุ้มครองฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่าน The American Recovery and Reinvestment Act of 2009 โดยการใช้นโยบายการคลังแบบกระตุ้นเพื่อฟื้นฟูเป็นเงินกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์ ที่ครอบลุมไปถึงการฟื้นฟูโครงสร้างการปล่อยกู้ โปรมแกรมลดภาษี หรือแม้แต่รัฐสวัสดิการ อย่าง Social Welfare Programs

หลังจากเกิดวิกฤต สหรัฐก็ได้มีการ Reform กฎและข้อบังคับต่างๆมากมายเพื่อป้องกันเหตุการณ์ซ้ำรอยในอนาคตอย่างเช่น Dodd-Frank Wall Street Reform และ Consumer Protection Act เป็นต้น ถึงแม้ว่าการเกิดฟองสบู่แต่ครั้ง จะเกิดจากสาเหตุที่ต่างกันไป แต่ทุกฟองสบู่ที่เกิดขึ้น เมื่อฟองสบู่ขยายใหญ่มากๆแล้ว มันจะมักจะแตกเสมอ และเมื่อใดที่ฟองสบู่มันแตก มันทำความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั้งสิ้นและทำให้เกิดความเจ็บปวดแก่ผู้คนมากมายเป็นวงกว้าง รวมถึงผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือสินทรัพย์นั้นด้วยเลย

ถ้าหากคุณชื่นชอบในการย้อนอดีตเพื่อศึกษาวิกฤตเศรษฐกิจ เราขอแนะนำอีกบทความหนึ่งที่ทีมงาน ChartTrail ได้เจาะลึกถึง วิกฤตต้มยำกุ้ง ของไทยได้ที่นี่

Seraphinite AcceleratorOptimized by Seraphinite Accelerator
Turns on site high speed to be attractive for people and search engines.