Ichimoku Kinko Hyo หรือที่รู้จักกันว่า เมฆ Ichimoku ถูกคิดค้นโดย Goichi Hosoda นักวารสารชาวญี่ปุ่น โดยคำว่า Ichimoku Kinko Hyo หากแปลตรงตัวเป็นภาษาไทย จะแปลว่า “แผนภูมิเมฆเมื่อมองแว็บแรก” โดย Hosada มีความตั้งใจที่จะพัฒนาอินดิเคเตอร์ให้มองแว็บเดียวก็สามารถเทรดตามได้ คล้ายการที่กราฟวิ่งอยู่ในกรอบเมฆ เครื่องมือนี้ถูกเผยแพร่ในช่วงปีค.ศ. 1930 หลังจากที่คุณ Hosoda ใช้เวลาพัฒนากว่า 30 ปี “อิจิโมคุ” ถูกพัฒนามาใช้เพื่อการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของราคาในเชิงเทคนิคโดยสามารถใช้เพื่อ ระบุทิศทางของแนวโน้มตลาด และ หาแนวรับแนวต้านเพื่อจับจังหวะในการเทรด
Ichimoku ใช้ยังไง ? – ทำความเข้าใจเครื่องมือ “แผนภูมิเมฆ”
Ichimoku ประกอบไปด้วยหลากหลายส่วนประกอบที่ทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมให้เทรดเดอร์นั้นสามารถวิเคราะห์และเข้าใจสภาพของตลาดได้อย่างครอบคลุม ส่วนประกอบของ Ichimoku มีดังนี้
1. Tenkan-sen หรือ Conversion Line
Conversion Line คือ เส้นที่กำหนด “จุดกึ่งกลาง” ระหว่างราคาที่สูงที่สุด และ ราคาที่ต่ำที่สุดของระยะเวลาหนึ่งตามที่ตั้งค่าไว้ ซึ่งค่าตั้งต้นจะถูกกำหนดไว้ที่ 9 ซึ่งหมายความว่า ต้องนำข้อมูลที่เป็นจุดสูงสุดและจุดต่ำสุดใน ช่วง 9 แท่งเทียนเพื่อมาใช้คำนวณ โดย Conversion Line นี้สามารถช่วยบ่งบอกถึงทิศทางของแนวโน้ม และ แนวรับ/แนวต้าน ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ
2. Kijun-sen หรือ Base Line
Base Line มีวิธีการคำนวณที่คล้ายคลึงกันกับ Conversion Line แต่จะใช้ค่าสำหรับช่วงระยะเวลาที่นานกว่าโดยที่ค่าตั้งต้นนั้นจะถูกกำหนดไว้ที่ 26 ซึ่งระยะเวลานี้นั้นสามารถนำมาใช้เพื่อบ่งบอกถึงแนวโน้มในระดับกลางๆได้ ซึ่งจากภาพด้านบน Base Line สีเหลือง เมื่อเทียบกับ Conversion Line สีน้ำเงิน จะเห็นได้ว่า Base Line จะเดินทางช้ากว่า เพราะใช้ชุดแท่งเทียนที่มากกว่าในการคำนวณนั่นเอง
3. Senkou Span A หรือ Leading Span A
Leading Span A (เส้นสีชมพู) สามารถหาได้โดยการนำค่าเฉลี่ยระหว่าง Conversion Line และ Base Line มาplotเข้าไปใน 26 แท่งเทียน(ค่าตั้งต้น) ข้างหน้าในอนาคต
4. Senkou Span B หรือ Leading Span B
Leading Span B (เส้นสีเขียว) มีหลักการคำนวณที่เหมือนกันกับ Leading Span A เพียงแต่เปลี่ยนการคำนวณค่าเฉลี่ยเป็น ระหว่างราคาสูงสุดและต่ำสุด ในช่วงระยะเวลา 52 แท่งเทียน แล้วจึงนำไป plot เข้าไปใน 26 แท่งเทียนข้างหน้าในอนาคต
5. Kumo หรือ เมฆ
Kumo หรือ เมฆ คือ บริเวณที่เป็นพื้นที่ว่างระหว่าง Leading Span A และ Leading Span B ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อ แยกแยะระหว่างแนวโน้มขาขึ้น ขาลง หรือ ออกข้าง
ถ้าหาก ราคานั้นเคลื่อนที่อยู่บนบริเวณเมฆนั่นหมายความว่าตลาดมีโอกาสปรับตัวเป็นขาขึ้น และ ถ้าหากต่ำกว่าเมฆก็หมายความตลาดกำลังมีโอกาสที่จะเคลื่อนที่ไปในแนวโน้มขาลง
6.Chikou Span หรือ Lagging Span
Chikou Span หรือ Lagging Span จะถูก plot ออกมาที่ราคาปิดปัจจุบันแต่ย้อนหลังกลับไปที่ 26 แท่งเทียน ซึ่งสามารถนำมาใช้วิเคราะห์เป็นการดูแนวโน้มเช่นเดียวกัน ถ้าหากเส้น Lagging Span กำลังเคลื่อนที่อยู่เหนือ ราคา หมายความว่า กำลังจะมีโอกาสเป็นแนวโน้มขาขึ้น และ ตรงกันข้าม หากเส้น Lagging Span อยู่ต่ำกว่าราคา
ใช้ เมฆ Ichimoku ในการเทรดอย่างไร ?
เทรดเดอร์สามารถใช้ Ichimoku เพื่อจับจังหวะในการเทรดได้ในหลากหลายกลยุทธ์ เช่น การแยกแยะแนวโน้มขาขึ้น/ขาลง การหา แนวรับและแนวต้าน
การแยกแยะแนวโน้มราคาสำหรับ Ichimoku
กลยุทธ์นี้เป็นวิธีการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับ Ichimoku ซึ่งเปรียบเทียบระหว่าง การเคลื่อนที่ระหว่าง ราคา และ เมฆ มากำหนดแนวโน้มการเคลื่อนไหวของราคา เช่น ถ้าหาก ราคาสามารถเคลื่อนตัวไปเหนือเมฆได้นั่นหมายความว่า ราคามีโอกาสที่จะเป็นแนวโน้มขาขึ้น แต่ถ้าหากราคาเคลื่อนที่ต่ำลงกว่าตัวเมฆนั้นหมายความว่า ราคามีโอกาสที่จะเป็นแนวโน้มขาลง
แนวรับและแนวต้านเคลื่อนที่
เมฆ Ichimoku สามารถนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์ เป็นแนวรับแนวต้านในอนาคตได้ เช่น ถ้าหากปัจจุบันนั้น ราคาเคลื่อนที่ต่ำกว่าบริเวณเมฆ หมายความว่าตรงบริเวณเมฆจะสามารถทำหน้าที่เป็นบริเวณแนวต้าน และ ถ้าหากราคาเคลื่อนที่สูงกว่าบริเวณเมฆจะทำให้บริเวณเมฆนั้นกลายเป็นบริเวณแนวรับ
บทสรุป
เมฆ Ichimoku นั้น เป็นเครื่องมือที่มีหลากหลายความสามารถที่จะช่วยให้เทรดเดอร์วิเคราะห์แนวโน้ม และ แนวรับแนวต้าน เพื่อจับจังหวะหรือหาสัญญาณในการเทรดได้ โดยเทรดเดอร์จะต้องเลือกว่าต้องการใช้ส่วนประกอบไหนของ Ichimoku และ กลยุทธ์ไหน ที่จะเหมาะสมกับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ในแต่ละการเทรด ซึ่ง Ichimoku นั้นไม่แตกต่างจากเครื่องมือ Trend Following ประเภทอื่นเลย ที่จะต้องใช้ความเข้าใจเรื่องการจำกัดความเสี่ยงอย่างเคร่งครัดด้วยเพื่อจะทำให้ระบบการเทรดนั้นเพิ่มโอกาสที่จะทำให้คุณนั้นอยู่รอดในตลาดได้